สถานที่ตั้ง อาคาร และ สถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน ของ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

สถานที่ตั้ง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 51/4 หมู่ที่ 5 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับห้าแยกปากเกร็ด โดยมาตามถนนติวานนท์ ทางที่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดปทุมธานี ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือหากมาจากสี่แยกสวนสมเด็จฯ ให้มาตามถนนติวานนท์ ทางที่มุ่งหน้าไปอำเภอปากเกร็ด ประมาณ 5 กิโลเมตร[17] สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ของ ขสมก สาย 33 และ 90

อาคารต่างๆ ภายในโรงเรียน

  1. อาคารเรียน “สธ ๑” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน เป็นอาคาร 4 ชั้น มีจำนวน 32 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[18] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ โรงอาหารนักเรียน[19] และห้องอาหารอาจารย์ “สุโขสโมสร”, ห้องพักอาจารย์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สังคมศึกษา และห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์
  2. อาคารเรียน “สธ ๒” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2524 เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียน เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น มีจำนวน 40 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณะเหมือนกับ อาคาร สธ 1 ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม อาคาร สธ 1 โดยมี ลานอเนกประสงค์ คั่นกลาง[18] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องพักอาจารย์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ ห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนฯ และห้องพระพุทธศาสนา
  3. อาคารเรียน “สธ ๓” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นอาคารเรียนหลังที่สามของโรงเรียน เป็นอาคาร 4 ชั้น มีจำนวน 24 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[18] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องจาริกานุสรณ์ฯ ห้องผู้อำนวยการ ห้องวิชาการ และห้องพักอาจารย์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ
  4. อาคารเรียน “สธ ๔” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2539 เพื่อทดแทนอาคารชั่วคราว บริเวณติดกับอาคาร สธ ๑ และ สธ ๓ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารเรียนหลังที่ห้าของโรงเรียน[2] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องฝ่ายบริการ ห้องแผนงานและสารสนเทศ ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา (Sound Lab) และห้องพักอาจารย์ งานแนะแนว หมวดพาณิชยกรรม
  5. อาคารหอประชุม “สิรินธราลัย” สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2527 บริเวณติดกับถนนรอบลานอเนกประสงค์ ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพื่อเป็นอาคารหอประชุมของโรงเรียน[18] โดยหอประชุมอยู่บนชั้น 2 นอกจากนี้ยังมี ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก (เดิมชื่อ ห้องสมุดติณสูลานนท์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)[20] และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ที่ชั้นล่างของอาคารอีกด้วย
  6. อาคารอเนกประสงค์ (ตึก 6) สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 บริเวณติดกับอาคาร สธ ๑ เป็นอาคารเรียนหลังที่สี่ของโรงเรียน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เป็นห้องเรียน และห้องกิจกรรม[18] โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ร้านสหกรณ์ ห้องปฏิบัติการนาฏศิลป์ ห้องปฏิบัติการเบเกอรี่ ศูนย์ปฏิบัติการวิชาศิลปศึกษา ก ห้องกิจกรรมเทควันโด โรงยิมเนเซียม และห้องพักอาจารย์ หมวดคหกรรม หมวดศิลปศึกษา
  7. อาคารโรงฝึกงาน สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2525 บริเวณใกล้ทางออกด้านหลังโรงเรียน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทางซ้ายมือของอาคารอเนกประสงค์ เพื่อเป็นอาคารปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ ของ หมวดช่างอุตสาหกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[18]
  8. อาคารศูนย์เกษตรกรรม สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังห้องสมุดสวนเสริมปัญญา เพื่อเป็นอาคารและพื้นที่ปฏิบัติการ ห้องเรียน และห้องพักอาจารย์ หมวดวิชาเกษตรกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[2]
  9. อาคาร 6 ชั้น อาคารเรียนอบจ.นนทบุรี สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2550 แทนที่อาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข และเรือนเกษตรกรรม ที่ได้รื้อถอนไป เป็นอาคารเรียน 5 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะแตกต่างไปจากอาคารเรียนหลังอื่นๆ อยู่ติดกับ อาคาร สธ 2 และมีสนามฟุตบอลอยู่หน้าอาคาร ปัจจุบันเปิดใช้ทำการเรียนการสอนแล้ว โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องพักอาจารย์ ม.2 และห้องเรียน ม.1 (บางห้อง) ม.2 (ทั้งระดับ) ห้องผู้อำนวยการ ห้องทะเบียนและวัดผล ห้องวิชาการ นโยบายและแผนงาน และห้องธุรการ
  10. อาคาร7ชั้น อาคารเรียนอบจ.นนทบุรี 40 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ระยะเวลาการสร้าง 2560-2561 เป็นโครงการจัดสร้างซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมในปีการศึกษา 2554-2555 เพื่อรองรับและบริการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

อาคารเรียนในอดีต

  1. อาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2530 บริเวณใกล้กับข้างอาคาร สธ ๒ เพื่อเป็นอาคารกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยชื่ออาคารนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นางอัมพา แสนทวีสุข อดีตผู้อำนวยการผู้ล่วงลับ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอาคารกิจกรรมวงโยธวาธิตของโรงเรียน[18] ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549
  2. เรือนเกษตรกรรม ตั้งอยู่ใกล้บริเวณหน้าโรงเรียน ติดถนนรอบสนามฟุตบอล ติดกับอาคารทศวรรษ อัมพา แสนทวีสุข หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เคยเป็นเรือนปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ ของ หมวดวิชาเกษตรกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี[18] ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549
  3. อาคารชั่วคราว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เดิมมีจำนวน 3 หลัง รวม 25 ห้องเรียน[18] แต่ยังเหลือเป็นอาคารสุดท้าย ตั้งอยู่บริเวณระหว่างอาคาร สธ ๑ และ สธ ๓ เป็นอาคารโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ยึดลูกกรงเหล็กกั้นเป็นกำแพงด้านหน้าและหลัง กั้นห้องด้วยไม้อัด ซึ่งเรียกกันในหมู่ศิษย์เก่าว่า ห้องเรียนเล้าไก่ ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก โรงเรียนจึงได้รื้อถอน เพื่อสร้างอาคาร สธ ๔ เมื่อปี พ.ศ. 2538

สถานที่สำคัญภายในโรงเรียน

  1. ลานอเนกประสงค์ อยู่บริเวณหน้าหอประชุมสิรินธราลัย คั่นกลางระหว่างอาคาร สธ ๑ และ สธ ๒ ประกอบด้วยลานคอนกรีตขนาดกว้างใหญ่ ยกสูงจากพื้นถนน และอัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลม ขนาบโอบสองข้างเสมือนปีก จากฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (แต่เดิมเป็นเวทีขนาดเล็ก ตั้งอยู่หน้าแท่นประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้น) สถานที่แห่งนี้ใช้สำหรับทำกิจกรรม และพิธีการต่างๆ ของโรงเรียน ที่สำคัญคือ พิธีหน้าเสาธง โดยในปีการศึกษา 2550 ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุมัติให้สร้างหลังคาปกคลุมสูง 4 ชั้นตึก และในปีการศึกษาถัดมา (พ.ศ. 2551) ยังดำเนินการต่อเติมออกไปยังบริเวณสวนเสริมปัญญาด้วย
  2. ห้องสมุด “สวนเสริมปัญญา”[20] สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ด้านข้างหอประชุมสิรินธราลัย เพื่อเป็นห้องสมุดธรรมชาติ มีศาลาพักผ่อนจำนวน 7 หลัง ทาสีตามวันในสัปดาห์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร สธ 3 ทรงชื่นชมการจัดห้องสมุดธรรมชาติเช่นนี้อย่างมาก[2]
  3. สวนเฉลิมพระเกียรติ “60 พรรษา มหาราชินี” ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน ข้างอาคาร สธ ๓ เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดสวนฯ ในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร สธ ๓ เมื่อปี พ.ศ. 2535[2] ปัจจุบันเป็นเพียงสวนหย่อมรอบหอพระเท่านั้น
  4. ห้องจาริกานุสรณ์ (ลพชัย แก่นรัตนะ) ตั้งอยู่ใต้อาคาร สธ ๓ ติดกับบันไดทางขึ้นอาคารเรียนทางขวา ในอดีตเป็นห้องฝ่ายปกครอง ก่อนจะปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นห้องเกียรติยศของโรงเรียน ประกอบด้วยศูนย์รวมเกียรติประวัติของโรงเรียน ภายในมีภาพถ่ายของผาสุก และเง็ก มณีจักร ผู้มอบที่ดินสำหรับจัดสร้างโรงเรียน รูปปั้นของอัมพา แสนทวีสุข ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน ซึ่งพัฒนาโรงเรียนไว้อย่างมากในระยะเริ่มก่อตั้ง ทำเนียบลำดับอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการ รวมทั้งแผ่นศิลาฤกษ์และแบบจำลอง อาคารทั้งหมดภายในโรงเรียน ตลอดจนกระทั่ง ถ้วยรางวัล โล่รางวัล และเกียรติยศต่างๆ ซึ่งได้รับจากการแข่งขัน ทั้งเชิงวิชาการและกีฬา อันเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน
  5. สถานเชิญธง “ลี้กุลเจริญ” สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2545 บริเวณริมถนนตรงข้ามลานอเนกประสงค์ ฝั่งเบื้องหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเสาเชิญธงชาติไทย และ ธงประจำโรงเรียน สีชมพู-ฟ้า อนุเคราะห์การจัดสร้างโดย นายอภิสิทธิ์ ลี้กุลเจริญ จึงใช้นามสกุลของนายอภิสิทธิ์เป็นชื่อสถานเชิญธงแห่งนี้
  6. หอพระพุทธรูปประจำโรงเรียน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 บริเวณกลางสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญประจำโรงเรียน 3 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อสวนกุหลาบจำลอง พระพุทธรูปปาง 25 พุทธศตวรรษ
  7. อาคารบริหารกิจการนักเรียนและประชาสัมพันธ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 บริเวณข้างสวนหย่อมหอพระ ฝั่งติดริมกำแพงหน้าโรงเรียนฯ จำนวน 2 ชั้น เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานของกลุ่มงานบริหารกิจการนักเรียน และงานประชาสัมพันธ์โรงเรียนฯ
  8. สนามถึงฝั่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 บริเวณข้างประตูหน้าด้านนอกกำแพงโรงเรียนฯ ฝั่งซ้ายของถนนทางเข้า เป็นสนามสำหรับแข่งขันและฝึกซ้อมวอลเลย์บอลชายหาด อนุเคราะห์การจัดสร้างโดย นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนนทบุรี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี จึงได้ใช้นามสกุลของนายดิเรกเป็นชื่อสนาม
  9. อัฒจันทร์ ตั้งอยู่ข้างสนามฟุตบอล ฝั่งตรงข้ามกับสถานเชิญธงลี้กุลเจริญ เป็นอัฒจันทร์ก่ออิฐถือปูนอย่างถาวร สร้างขึ้นเพื่อทดแทนอัฒจันทร์ชั่วคราว ที่ใช้เหล็กฉากเชื่อมต่อกัน เปิดใช้เป็นครั้งแรก ในงานวันแม่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550[21]
  10. ศาลาแก่นรัตนะ เดิมเรียกว่า ศาลากลางน้ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 บนเกาะกลางสระน้ำ หลังห้องสมุดสวนเสริมปัญญา เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นเรือนไทยสวยงาม สำหรับให้นักเรียนได้ศึกษาสถาปัตยกรรมไทย โดยให้ชื่อตามนามสกุลของผู้มีพระคุณจัดสร้าง นอกจากนี้ ยังมีบริการเรือถีบในสระน้ำด้วย[2]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beauty-qu... http://www.ch7.com/website/activity7/pr_news040150... http://maps.google.com/maps?ll=13.91010,100.51283&... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.9101... http://women.sanook.com/whatson/news_17782.php http://suannonweb.com/board/viewtopic.php?pid=8349... http://www.suannonweb.com/wiki/index.php http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.wanyood.com/Content/Content.asp?Content... http://data.bopp-obec.info/emis/schooldata-view.ph...